สำหรับคนที่เกิด โต เรียน และเคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มหานครที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากคนเมืองจ๋าๆ วุ่นวายหน่อยๆ ได้ยินเสียงรถวิ่งผ่านก็หลับตานอนได้ ห้องนอนมืดไม่สนิทเพราะแสงไฟในเมืองก็หลับสบาย มาทำตัวชิลล์ๆ เนิบๆ อยู่ในชนบท สัมผัสได้เลยว่าชีวิตในภพชาติมนุษย์กรุงเทพฯ กับภพชาติมนุษย์ชนบทนอร์เวย์ทางเหนือมันช่างแตกต่างกันเหลือเกินค่ะ
หลังจากไถดูรูปในแกลอรี่ตัวเอง ที่มักจะถ่ายและเลือกเก็บเฉพาะความทรงจำดีๆ แสนสวยงามแล้ว ค้นพบว่าชีวิตชนบทในนอร์เวย์ตอนเหนือนี้ มีข้อดีอย่างน้อย 5 ข้อด้วยกัน

1) หายใจโล่งขึ้น มีพื้นที่และระยะห่างทางสังคมเหลือเฟือ
ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีประชากรเบาบางอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด จำนวนประชากรราว 5.3 ล้านคน กับพื้นที่ 385,207 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศไทย มีประชากรกว่า 66 ล้านคน พื้นที่กว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร
ความหนาแน่นของประชากรต่อหนึ่งตารางกิโลเมตรระหว่าง 1.5 คนในเมืองที่เนอาศัยอยู่ตอนนี้ กับ 2,000 คนในกรุงเทพฯ ย่อมสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง
คนที่เคยไปไหนมาไหน มองไปไหนก็รายรอบไปด้วยผู้คน อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง มาอยู่ต่างจังหวัดที่มองไปทางไหนก็มีแต่ธรรมชาติ ภูเขา ป่า ทะเล ฟยอร์ด ผู้คนรอบตัวบางตาเหลือเกิน รู้สึกวุ่นวายใจน้อยลง สูดลมหายใจเข้าไปแต่ละที โล่งปอดบอกไม่ถูก
2) ได้สัมผัสความเงียบ ที่แบบเงียบจริงๆ
พอคนน้อย พื้นที่โล่ง กิจกรรมการรวมตัวของผู้คนที่น้อยกว่า ระดับเสียงรบกวนก็น้อยลงไปด้วย ครั้งล่าสุดที่กลับไปกรุงเทพฯบ้านเกิด คืนแรกบอกเลย นอนไม่หลับค่ะ ได้ยินเสียงแอร์ก่อนจะข่มตานอน แล้วมันรู้สึกรำคาญหูมากมาย รู้สึกกระวนกระวายว่าทำไมชีวิตเราต้องมาคอยได้ยินเสียงเครื่องยนต์อะไรซักอย่างตลอดเวลา หาความเงียบไม่ได้เลย แม้แต่ตอนจะนอน
เรียกได้ว่า ทักษะการตัดเสียงรบกวนแบบมนุษย์กรุงเทพฯ หายไป หลังได้มารู้จักความเงียบที่ชนบทนอร์เวย์ภาคเหนือ
3) ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งตามฤดูกาล เรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเดินป่า ปีนเขา ปั่นจักรยาน เล่นสกี ล่องเรือ ตกปลา ล่าแสงเหนือ หรือจะดำน้ำในทะเล ทุกอย่างทำได้ง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องวางแผนเดินทางไกล หรือค้างคืน เพราะทุกอย่างที่ว่ามามันอยู่ในชนบทรอบตัวที่เราอาศัยอยู่ และก็ไม่ต้องไปแย่งพื้นที่กับใครด้วย เพราะคนน้อยมาก อยู่ท่ามกลางธรรมชาติแต่ละที เหมือนเราเป็นเจ้าของสถานที่ตรงนั้น ไม่มีคนรบกวน
ที่นอร์เวย์ มีกฎเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติได้อย่างเป็นอิสระ เรียกว่า Allemannsretten ส่วนภาษาอังกฤษแปลได้ว่า Public right of access เป็นกฎแห่งการใช้ธรรมชาติอย่างเต็มที่ อนุญาตให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ทางธรรมชาติทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ ยกตัวอย่างเช่น เราจะไปกางเต็นท์นอนที่ไหนก็ได้ แม้ที่ดินนั้นจะมีเจ้าของ แต่ต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทำตัวคุกคามธรรมชาติ และคนอื่น ทั้งนี้ สามารถนอนกางเต็นท์หรือจอดรถบ้านแคมปิ้งในสถานที่ต่างๆ ได้ ไม่เกิน 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ชื่นชมและสัมผัสธรรมชาติด้วย

4) เพิ่มทักษะเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลผู้คน
แม้ชนบทที่อาศัยอยู่ตอนนี้ จะมีประชากรเบาบาง (ราวสามพันคน) ชีวิตประจำวันแบบต่างคนต่างอยู่ แต่การทำกิจกรรมรวมตัวกันตามเทศกาล ทำให้คนในเทศบาลเจอหน้ากันบ่อย จะไปไหน จะทำอะไรก็จะเจอแต่คนหน้าเดิมๆ แม้จะเป็นคนอินโทรเวิร์ทแค่ไหน มันก็ต้องคุยทักทายกับคนอื่นเขาบ้าง
ในหมู่ผู้คนชุดเดิมนี้ ทุกคนจะมีความเกี่ยวโยงกัน เช่นคนนี้เป็นญาติกับคนนี้ คนนี้ทำงานที่เดียวกับคนนี้ ลูกคนนี้ไปโรงเรียนเดียวกับคนนี้ ฯลฯ การเชื่อมโยงข้อมูลของผู้คนในหัวจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ ถึงแม้จะไม่อยากรู้ แต่มันก็เข้าหัวมาเอง
ขณะที่อดีตชีวิตคนกรุงฯ กึ่งอินโทรเวิร์ท ใครเป็นใครฉันไม่สนใจจ้า เพื่อนบ้านคอนโดข้างห้องก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แค่คุ้นๆ หน้ากัน รู้ว่าไม่มีพิษมีภัยก็พอแล้ว ไม่อยากรู้จักเชื่อมโยงข้อมูลต่อ
5) ผลกระทบจากโควิดน้อย
เพราะปกติคนชนบทอย่างเราก็มีพื้นที่และระยะห่างทางสังคมอยู่แล้ว ทรัพยากรและอะไรอื่นๆ ไม่ต้องแย่งกันเหมือนคนเมืองเขา อย่างตอนที่คนนอร์เวย์แห่ตุนสินค้าใหม่ๆ หลังรัฐบาลประการมาตรการเข้มงวดควบคุมการระบาดของไวรัส สินค้าบนชั้นในซุปเปอร์แถวบ้านก็ไม่ได้เกลี้ยงโล่งโจ้งเหมือนคนในเมืองใหญ่
ทุกคนใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม แค่เจอหน้ากันน้อยลง ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ต่างคนก็ต่างหันหน้าเข้าหาธรรมชาติกันลำพัง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว มีพื้นที่โล่งกลางแจ้งให้วิ่งเล่น แบบไม่กลัวติดไวรัส
โพสต์แนะนำ อีกหนึ่งข้อดีชีวิตในชนบท – เก็บเห็ดฟรี!