หากถามว่าความเป็น “ชาตินอร์เวย์” คืออะไร?
คำตอบที่ประเทศเขาพยายามพร่ำบอกและย้ำเตือนคือ “ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม”
เวลาที่รัฐบาลกล่าวถึงประชากรนอร์เวย์ เขาหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์อย่างถูกกฎหมายทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาตินอร์เวย์โดยกำเนิด ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและผู้ขอลี้ภัยจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในนอร์เวย์เพราะหน้าที่การงาน เพราะครอบครัว (แต่งงานกับคนนอร์เวย์ หรือย้ายตามพ่อแม่มาอยู่นอร์เวย์) หรือเพราะความไม่สงบในประเทศบ้านเกิดตัวเอง
แม้แต่ฮาราลด์ กษัตริย์นอร์เวย์คนปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นเจ้าชายจากเดนมาร์ก ก็ยังพูดออกสื่อบ่อยๆ ว่า คนนอร์เวย์คือคนจากทุกที่ มาจากหลายประเทศ รวมกันเป็น “ชาตินอร์เวย์” ตัวราชวงศ์เองก็เป็นผู้อพยพจากเดนมาร์ก มีเชื้อสายเดนมาร์ก-อังกฤษ ถูกคนนอร์เวย์เชิญให้มาเป็นกษัตริย์ เมื่อ 115 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1905 หลังประเทศเป็นอิสระจากสหภาพสวีเดน-นอร์เวย์)

ทั้งนี้ ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของนอร์เวย์ที่ยอมรับความหลากหลาย ไม่ได้ปฏิบัติกันแต่เพียงลมปากหรือคำพูดเท่านั้น เขาให้สิทธิสวัสดิการต่างๆ แก่คนต่างชาติที่อยู่นอร์เวย์และทำงานเสียภาษีอย่างถูกกฎหมาย เหมือนกับคนนอร์เวย์อย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก
เช่น ได้สิทธิเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาเอก กู้เงินเรียนได้ ซื้อบ้านได้ ครอบครองที่ดินได้ เป็นเจ้าของกิจการได้ กู้เงินธนาคารได้ ได้รับสิทธิเงินคนว่างงาน กรณีตกงาน ได้รับเงินสวัสดิการเลี้ยงชีพจนตาย กรณีที่มีเหตุให้ทำงานไม่ได้ ได้สิทธิรักษาฟรีตามระบบสาธารณสุขนอร์เวย์
หากใครทำงานจนถึงเกษียณ จะได้รับเงินหลังเกษียณทุกอาชีพ มากน้อยแล้วแต่ฐานเงินเดือนเดิม หากอาศัยอยู่ในนอร์เวย์จนแก่เฒ่า แล้วช่วยเหลือดูแลตัวเองไม่ได้ มีสิทธิเข้าพักในบ้านพักคนชรา มีพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาลดูแลประคับประคองจนกระทั่งเสียชีวิต
ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง คนต่างชาติมีสิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่นด้วย หากอาศัยอยู่นอร์เวย์เกิน 3 ปี
และหากคนต่างชาติคนไหนซาบซึ้งความเป็นนอร์เวย์มากๆ จนอยากได้สัญชาตินอร์เวย์มาครอบครอง ก็สามารถทำเรื่องขอได้แบบไม่ยากเย็นเกินเอื้อม เงื่อนไขคร่าวๆ คือ อาศัยอยู่ในนอร์เวย์เกิน 7 ปี มีรายได้ต่อปีขั้นต่ำตามที่กำหนด สอบผ่านความรู้ภาษานอร์เวย์และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสังคมและการเมืองของนอร์เวย์
นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันหรือกองทุนความมั่งคั่งที่รัฐบาลนอร์เวย์ลงทุน ก็ครอบคลุมและให้ประโยชน์เผื่อแผ่ถึงคนต่างชาติที่เขาเหมารวมว่าเป็น “ประชากรนอร์เวย์” ด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คนต่างชาติรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาตินอร์เวย์ และร่วมฉลองวันชาติได้แบบไม่เคอะเขิน

ความแตกต่างของคนสัญชาตินอร์เวย์กับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ที่เห็นได้ชัดๆ คือ
🔸 สิทธิเลือกตั้งระดับประเทศ ที่คนต่างชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ เลือกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ผู้ที่จะมากำหนดทิศทางการบริหารประเทศ ซึ่งรวมถึงนโยบายเกี่ยวกับคนต่างชาติด้วย
🔸 และหากอยากทำงานด้านความมั่นคงและการเมืองระดับประเทศ ก็ต้องเป็นคนสัญชาตินอร์เวย์เท่านั้น
พักหลังๆ มานี้ กฎเกี่ยวกับการขอวีซ่าถาวรและเงื่อนไขการขอสัญชาติยากขึ้นเรื่อยๆ ค่าธรรมเนียมแพงขึ้น กำหนดรายได้ขั้นต่ำสูงขึ้น กำหนดผลสอบให้ยากขึ้น เพราะพรรคการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายเข้มงวดเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมากขึ้น
ซึ่งตรงนี้คนต่างชาติไม่มีสิทธิกำหนดทิศทางได้เลย ต้องแล้วแต่คนนอร์เวย์ที่มีสิทธิเลือกตั้งระดับประเทศเลย ว่าอยากได้พรรคการเมืองที่มีนโยบายต่อคนต่างชาติแบบไหนมาบริหารประเทศ
จำนวนคนต่างชาติในนอร์เวย์
ปัจจุบัน คนต่างชาติในนอร์เวย์มีจำนวนเกือบ 8 แสนคน คิดเป็น 14.7% ของประชากรในประเทศทั้งหมดกว่า 5.3 ล้านคน คนต่างชาติในนอร์เวย์ที่มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ โปแลนด์ (101,153 คน) ลิทูเอเนีย (40,632 คน) สวีเดน (35,568 คน) ซีเรีย (31,952 คน) โซมาเลีย (28,554 คน) เยอรมัน (24,953 คน) ฟิลิปปินส์ (23,280 คน) อิรัก (23,260 คน) เอริเทรีย (23,075 คน) ปากีสถาน (21,209 คน)
ส่วนคนไทยในนอร์เวย์ก็อบอุ่นค่ะ จำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติล่าสุดของปี 2020 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 21,097 คน
เนื่องในโอกาสวันชาตินอร์เวย์ 17 พฤษภาคม วันนี้ ขอชวนทุกคนมาร่วมฉลองวันชาติด้วยการกล่าวคำอวยพรเป็นภาษานอร์เวย์ว่า
Gratulerer med dagen Norge!
(แปลว่าสุขสันต์วันชาตินะนอร์เวย์)
Hipp hipp hurra!
📂 อ้างอิง
สถิติจำนวนคนต่างชาติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ – https://bit.ly/2ZbmlkA
โพสต์แนะนำ ข้อดีของการถือสัญชาตินอร์เวย์